History: ประวัติห้องสมุด

ประวัติห้องสมุด

ห้องสมุดโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีการจัดสร้างขึ้นพร้อมกับก่อตั้งโรงเรียน เดิมห้องสมุดตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 อาคาร 1 มีพื้นที่ทั้งหมด 362 ตารางเมตร เป็นพื้นที่บริการจำนวน 324 ตารางเมตร และพื้นที่ปฏิบัติงานจำนวน 38 ตารางเมตร มีที่นั่งอ่าน 180 ที่นั่ง เนื่องจากสถานที่ห้องสมุดเดิมคับแคบไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้บริการ และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสื่อสารนิเทศ ในปีงบประมาณ 2546 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์วิทยบริการหรือห้องสมุด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และแหล่งวิทยาการในการศึกษาเรียนรู้ ที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของนักเรียน ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาคารศูนย์วิทยบริการเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น หลังคากระเบื้องคอนกรีตทรงปั้นหยาต่อเชื่อมกับอาคารเรียน และได้ต่อเติมโถงอาคารเรียนเดิมเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยเพิ่มเติมอีก 2 ชั้น ผนังโดยรอบอาคารเป็นแบบโป่รงใสสามารถมองเห็นจากภายนอกได้ มีการจัดพื้นที่ส่วนที่ว่างระหว่างอาคารให้เป็นสวนปลูกต้นไม้คลุมด้วยหลังคาโปร่งแสงใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่พักผ่อน หรือสถานที่อ่านหนังสือในสวน มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 3,033 ตารางเมตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศูนย์วิทยบริการ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548

การจัดแบ่งพื้นที่บริการในศูนย์วิทยบริการหรือห้องสมุด ชั้นล่าง ส่วนหน้าเป็นโถงนิทรรศการ และเคาน์เตอร์บริการ ส่วนถัดเข้ามาเป็นห้องอ่านหนังสือ สิ่งพิมพ์ที่จัดไว้ให้บริการในชั้นนี้ประกอบด้วย หนังสือและตำราสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คู่มือเตรียมสอบ วารสาร หนังสือพิมพ์ นวนิยาย ศูนย์รวบรวมผลงานวิชาการของครู รายงานผลการปฏิบัติงาน และโครงงานนักเรียน ชั้นที่ 2 จัดแบ่งเป็นห้องอ่านหนังสือ ห้องค้นคว้ากลุ่มย่อย ห้องมินิเธียเตอร์ มุมหนังสือพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ หนังสือพระราชนิพนธ์ และห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-library) สื่อสารนิเทศที่ให้บริการบนชั้นนี้ประกอบด้วย หนังสือและตำราสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนังสืออ้างอิง ซีดี เทปเสียง และวิดีทัศน์ ชั้นที่ 3 ประกอบด้วยห้องถ่ายทำภาพยนตร์ ห้องบันทึกเสียง และห้องเรียนรวมขนาด 240 ที่นั่ง ในห้องนี้ได้ติดตั้งโสตทัศนูปกรณ์ระบบภาพและเสียงที่มีคุณภาพสูงเพื่อใช้ในการฉายภาพยนตร์เสมือนจริงดาราศาสตร์ 3 มิติ

การดำเนินงานและการจัดบริการต่างๆ ของศูนย์วิทยบริการ จะคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ การจัดสถานที่ภายในศูนย์วิทยบริการ ได้ออกแบบให้มีความคล่องตัวในการใช้บริการ มีการจัดบรรยากาศและมุมการอ่านในหลายลักษณะที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการ มีการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการอำนวยความสะดวกในการศึกษาเรียนรู้ การสืบค้นข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็ว

ศูนย์วิทยบริการมีการจัดบริการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียน อาจารย์ ในการศึกษาค้นคว้า การค้นหาข้อมูลข่าวสาร และสามารถใช้ทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ ที่จัดหามาอย่างคุ้มค่า ได้แก่ บริการการอ่าน บริการยืมสื่อสารนิเทศ บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า บริการแนะนำการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลและแหล่งข้อมูลออนไลน์ บริการข่าวสารทันสมัยฯลฯ เป็นต้น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนประจำ จึงได้เปิดบริการการใช้ศูนย์วิทยบริการ ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.30 – 17.00 น. และ 19.00 - 22.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดบริการตั้งแต่เวลา 10.30 – 22.00 น. ยกเว้นช่วงปิดภาคเรียน

นอกจากการให้บริการในระบบห้องสมุดปกติแล้ว โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ยังเปิดบริการในระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-library) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียน ในการศึกษาเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง นักเรียนและครู-อาจารย์สามารถสืบค้นรายการบรรณานุกรมสื่อที่มีให้บริการในศูนย์วิทยบริการ สามารถตรวจสอบสถานภาพรายการหนังสือและสื่อต่าง ๆ ที่ตนเองยืมไปจากศูนย์วิทยบริการ สามารถเรียกดูวิดีทัศน์ผ่านระบบเครือข่ายได้ตามประสงค์ (Video on Demand) นอกจากนี้ครู-อาจารย์และนักเรียนยังสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ต่างๆ ในเครือข่ายไม่ว่าจะเป็น e-books, e-journal, e-reference, e-news, News clip online, Academic Database ผ่านเว็บไซต์ e-library ของศูนย์วิทยบริการ

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มุ่งพัฒนาศูนย์วิทยบริการให้เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามอุดมการณ์และเป้าหมายในการพัฒนานักเรียน เป็นแหล่งวิทยาการที่สมบูรณ์แบบ มีสื่อความรู้ทุกรูปแบบรวมทั้งสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในเวลาอันรวดเร็ว

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยไต่ถามและติดตามเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง และพระราชทานหนังสือตำราสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งจากภายในประเทศและทรงสั่งซื้อจากประเทศต่าง ๆ ให้แก่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จำนวนมาก ดังรายการ ต่อไปนี้

  1. หนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ ของมูลนิธิสอวน. จำนวน 475 เล่ม พร้อมซีดีประกอบการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ รายการละ 3 ชุด
  2. หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 18 เล่ม
  3. หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศอังกฤษ จำนวน 5 เล่ม
  4. หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศนิวซีแลนด์ จำนวน 12 เล่ม
  5. หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย จำนวน 8 เล่ม
  6. หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศสาธารณรัฐอินเดีย จำนวน 15 เล่ม
  7. หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศแคนาดา จำนวน 9 เล่ม
  8. หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 27 เล่ม
  9. หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศสิงคโปร์จำนวน 11 เล่ม
  10. พจนานุกรมศัพท์คณิตศาสตร์ภาษาจีน - อังกฤษ จำนวน 1 เล่ม

นอกจากนี้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเงินกองทุนของ ดร.เมเรดิท บอร์ทวิก จำนวน 30,600 บาท เพื่อใช้ในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ดร.เมเรดิท บอร์ทวิก เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ออสเตรเลีย ผู้แปลหนังสือเรื่อง “หลายชีวิต” ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นภาษาอังกฤษ ได้ถึงแก่กรรมในปีที่พิมพ์หนังสือ (ค.ศ. 1995) ทายาทได้มอบรายได้จากค่าลิขสิทธิ์หนังสือให้เป็นกองทุนทำการกุศลในประเทศไทย เงินทุนที่คงอยู่ในบัญชีจำนวนหนึ่งหลังจากการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาหญิงชาวเชียงใหม่ จนสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการกองทุนเห็นต้องกันว่าควรนำเงินนี้มอบให้แก่ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติสืบไป

การฟื้นฟูโรงเรียน และการเร่งดำเนินการจัดสร้างห้องสมุดชั่วคราว โรงเรียนได้รับความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนจากบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์และหนังสือเข้ามาทดแทนของเดิม สำหรับใช้ประกอบการศึกษาค้นคว้าของครูและนักเรียน โรงเรียนใช้ห้องประชุม ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ (อาคาร 1 ชั้น 4) เป็นห้องสมุดชั่วคราว สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2553 ในวันแรกที่เปิดบริการมีหนังสือเพื่อการศึกษาค้นคว้าจำนวน 11,747 เล่ม